วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

น้ำทะลักท่วม ร.ร.บ้านตะแบงสามัคคี วิกฤติในรอบ 25 ปี

 จากสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนครราชสีมา ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขา เช่น ลำตะคอง ลำพระเพลิง ลำเชียงไกร ลำมาศ สำสะแทด ลำตะโคง ได้เอ่อท่วมอำเภอพิมาย อำเภอโนนสูง อำเภอชุมพวง อำเภอเมืองยาง อำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา ผ่านท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วยอำเภอคูเมือง อำเภอพุทไธสง อำเภอแคนดง และอำเภอสตึก น้ำได้ไหลทะลักล้นตลิ่ง ชุมชน สถานที่ราชการ  โดยเฉพาะสถานศึกษาสังกัด สพป.บุรีรัมย์ เขต 4


      ...เช้าวันที่  26 ตุลาคม  2553  ปริมาณน้ำได้เอ่อล้นตลิ่งลำน้ำมูล  ท่วมนาข้าว ชุมชน วัด โรงเรียน โดยเฉพาะที่โรงเรียนบ้านตะแบงสามัคคี  ตำบลหัวฝาย  อำเภอแคนดง  จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัด สปพ.บุรีรัมย์ เขต 4  สภาพที่ตั้งของโรงเรียนเป็นที่ราบลุ่ม ตั้งอยู่ห่างจากฝั่งลำ้น้ำมูลประมาณ 1.5 กิโลเมตรและอยู่ติดปากคาบลำตะโคง (บริเวณ ลำตะโคงไหลบรรจบกับแม่น้ำมูล) ทำให้เกิดปริมาณน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมโรงเรียน โดยขณะนี้ (วันที่  27 ตุลาคม  2553 เวลา 13.00 น.) ปริมาณน้ำยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ปริมาณน้ำสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 50 เซนติเมตร นายบุญเลิศ  ตองติดรัมย์  ผู้อำนวยการโรงเรียน พร้อมด้วยคณะครู นักเรียน ภารโรง ผู้ปกครองนักเรียน ประชาชนในเขตบริการของโรงเรียน และและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ช่วยกันเคลื่อนย้ายวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องเขียน แบบเรียน ไปไว้ในที่ปลอดภัย โดย หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ เดินทางมาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ ความเสียหายครั้งนี้อยู่ระหว่างประเมิน และคาดว่าระดับน้ำจะสูงขี้นเรื่อย ๆ
      ...อาจารย์ประมูล ศิริเวช ครู ค.ศ.2 โรงเรียนบ้านตะแบงฯ ได้ต้อนรับคณะทีมงาน ICT572 กล่าวว่าน้ำท่วมเกือบทุกปี แต่ปีนี้ท่วมหนักที่สุดในรอบ 25 ปี ในปี 2551 น้ำ่ท่วม 2 ช่วง ระหว่างเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน เป็นเวลานานประมาณ 2 เดือน แต่ปริมาณน้ำไม่มาก ในปีนี้คาดว่าน้ำจะท่วมขังนานเกิน 1 เดือน ปี้นี้ปริมาณน้ำจากลำตะโคงมีปริมาณไม่มาก คงจะไม่สามารถเปิดเรียนในวันที่ 1 พฤศจิกายน  2553 ได้ โรงเรียนบ้านตะแบงมีหมู่บ้านในเขตบริการ 2 หมู่บ้านคือ ม.1 บ้านโนนสำราญและม.2 บ้านตะแบง จำนวนนักเรียนทั้งหมด ระดับชั้น อน.1-ป.6 จำนวน 153 คน   และ เด็กก่อนเกณฑ์ของ อบต.หัวฝาย จำวน  23 คน  บุคลากรจำนวน 9 คน
      ...นอกจากนี้แล้ว ทางทีมงาน ชมรม ICT572 ได้เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านกระทุ่มจานสามัคคี ปรากฏว่าสภาพรอบหมู่บ้านกลายเป็นทะเลสาบที่ปริมาณน้ำล้นตลิ่งจากลำน้าำมูลได้เอ่อท่วมนาข้าวที่กำลังจะเก็บเกี่ยว ชาวบ้านส่วนหนึ่งพายเรือเกี่ยวข้าว ส่วนทางเข้าโรงเรียนไม่สามารถไปได้ สภาพโรงเรียนน้ำเกือบจะท่วมถึงแล้ว
      ...ขณะนี้ปริมาณน้ำลำน้ำมูลหน้าที่ว่าการอำเภอสตึก มีปริมาณสูงขึ้นกว่าทุกปี ขอให้โรงเรียนที่อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ามูล เช่น โรงเรียนบ้านท่าเรือ โรงเรียนบ้านสำโรงพิมาน และโรงเรียนบ้านท่าม่วง ให้เตรียมการรับสถานการณ์น้ำท่วมด้วย
         ในส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกประกาศเรื่องการเตรียมการป้องกันและระมัดระวังอุทกภัย ตามหนังสือที่ ศธ 04085/5495 ลงวันที่ 21 ตุลาคม  2553  ดังรายละเอียด...
         ด้วยในจังหวัดบุรีรัมย์และหลายพื้นที่ต้องประสบสถานการณ์อุทกภัย อันเนื่องมาจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำพัดผ่านทำให้ฝนตกหนักติดต่อกันมาหลายวัน  ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั้งชีวิต ทรัพย์สินและที่อยุ่อาศัย สิ่งสาธารณประโยชน์และเส้นทางคมนาคม ได้รับความเสียหายเป็นอันมาก ประกอบกับปริมาณน้ำจาก แม่น้ำมูล ลำน้ำมาศ ลำชี ลำปะเทีย และแหล่งน้ำอื่น ๆ กำลังมีปริมาณสูงขึ้น  อันเนื่องมาจากการไหลของต้นน้ำ ในจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน
         เพื่อเตรียมการป้องกันและระมัดระวังอุทกภัย ให้ดำเนินการดังนี้
        1.  ให้ประชาชนเตรียมความพร้อมและสามารถอพยพ ขนย้ายสิ่งของและทรัพย์สินมีค่า ตลอดจนสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ให้อยู่ในที่ปลอดภัยได้ตลอดเวลา
        2.  ขอให้ผู้ปกครองระมัดระวังอันตรายและดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดมิให้ลงเล่นน้ำในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง หรือมีกระแสน้ำไหลเชี่ยวรุนแรง อาจทำให้เกิดอันตรายและเสียชีวิตได้
        3.  ให้ระมัดระวังและป้องกันโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม โดยมีการเตรียมพร้อมด้านสาธารณสุขพื้นฐาน
        4.  ให้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องอุปโภคบริโภคให้เพียงพอ
        5.  ให้ติดตามรายงานพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา หรือหน่วยงานอื่น ๆ

      ติดต่อช่วยเหลือโรงเรียนบ้านตะแบงสามัคคี โทร.0-4463017-4  มือถือ อ.ประมูล ศิริเวช 0-83367854-1

ภาพประกอบน้ำท่วม โรงเรียนบ้านตะแบงสามัคคี
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 4
วันที่  27 ตุลาคม  2553  เวลา 13.00 น.
แผนที่โรงเรียนบ้านตะแบงสามัคคี ต.หัวฝาย อ.แคนดง สพป.บุรีรัมย์ เขต 4

อาคารอเนกประสงค์
อ.ประมูล ศิริเวช พาคณะ ICT สำรวจสภาพน้ำท่วมในโรงเรียน ขณะปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
น้ำท่วมภายในบริเวณโรงเรียน

ห้องส้วม

ชาวบ้านตะแบงสามัคคี พายเรือลุยน้ำเกี่ยวข้าว ที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในปีนี้

ข้อมูล : อ.สุวัฒน์  อุ่นทานนท์
ภาพประกอบ :  อ.จารุเกียรติ อธิพัฒน์พลากร/อ.อภิรัชต์ การิโก ชมรม ICT572

 ดาวน์โหลดภาพถ่ายทั้งหมดที่นี่

 -------------------------------------------------------------------------------------------------
        หากวิเคราะห์ปัญหาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในจังหวัดนครราชสีมา และ บุรีรัมย์อยู่ในขณะนี้พบว่าน่าจะมาจากหลายสาเหตุทั้งปริมาณฝนที่ตกหนักติดต่อกัน การขาดการวางแผนของชุมชนเมืองต่างๆ การสร้างบ้านเรือนที่เน้นความสวยงาม หรือการถมที่สร้างบ้านจัดสรรโดยการเอาดินไปถมที่ลุ่ม เมื่อพื้นที่รองรับน้ำถูกถมเมื่อฝนตกหนักจึงทำให้เกิดการท่วมขังและระบบระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมจะต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องน้ำโดยเฉพาะ โดยต้องศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ
      
       นายธีระชาติ เสยกระโทก เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดนครราชสีมา สร้างความเสียหายอย่างหนักและถือว่าวิกฤตที่สุดในรอบหลายปี ปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นถามว่ามีหน่วยงานไหนเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่มีเพราะส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหมือนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า ซึ่งเมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ จะเห็นว่า ปัญหาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังขยายเป็นบริเวณกว้างครั้งนี้ นอกจากภาวะฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเข้าขั้นวิกฤตเกินกว่าปริมาณกักเก็บแล้ว ยังเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำและการขยายเมืองโดยไม่มีการวางผังเมือง สร้างสิ่งก่อสร้างกีดขวางทำให้ทิศทางน้ำเปลี่ยน
ปัญหาน้ำท่วมนับจะทวีความรุนแรงมากขึ้นอันเกิดจากสภาวะโลกร้อน ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การถมดินทับแหล่งน้ำ แหล่งระบายน้ำเดิมที่มีมาแต่โบราณ การสร้างโครงการต่างๆ แต่มีทางระบายน้ำขนาดเล็กเกินไป การทับถมของตะกอนดิน อันเกิดจากการพังทลายของตลิ่ง เป็นต้น ดังนั้น แนวคิดในการจัดการน้ำจึงจำเป็นต้องเริ่มจากกระบวนการคิดจากชุมชนที่เขาเป็นเจ้าของพื้นที่ และรู้ปัญหาว่าสาเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดจากอะไรบ้าง ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลชุมชนมีข้อแนะนำว่าจำเป็นต้องหามาตรการป้องกันและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังนี้
      
       ประการแรก ขุดลอกแหล่งน้ำ บึง หนอง ประจำหมู่บ้าน ซึ่งสามารถระบายน้ำช่วงน้ำหลากของหมู่บ้านได้ ประการที่สอง การสร้างกำแพงกันดิน แม่น้ำบางสายตื้นเขินของตะกอนดิน เป็นเหตุทำให้แม่น้ำลำคลอง ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มที่ การสร้างกำแพงควรมีการทำอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อรองรับกับปริมาณน้ำ
      
       ประการที่สาม ปรับพื้นที่การอยู่อาศัย โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองแบบยั่งยืน โดยวางแผนไม่ให้ชุมชนสร้างบ้านรุกล้ำคูคลองสาธารณะและควรมีช่องระบายน้ำที่ดี ประการสุดท้าย ต้องปลูกต้นไม้ ปลูกป่า บริเวณป่าต้นน้ำของแต่ละพื้นที่เพื่อดูดซับน้ำ ลดกำลังน้ำจากภูเขาสูงโดยความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
       นายสำเริง เสกขุนทด ผู้จัดการสำนักงานสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า ชุมชนมีบทเรียนและกระบวนการฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลักอยู่ 3 ประการ คือ   
      1.  กระบวนการฟื้นฟูที่เป็นการทำงานร่วมกันทั้งครอบครัวผู้ประสบภัย ชุมชนท้องถิ่น นำไปสู่การสร้างองค์กรจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
      2.  การวางแผนแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมและมีความหลายหลายตามสภาพความเป็นจริงของผู้ประสบภัย
      3.  การใช้กระบวนการทำงานโดยชุมชนเป็นแกนหลักแล้วเชื่อมโยงกับโครงการของรัฐบาลในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9530000149873

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น